๑. ยุคเริ่มต้นของคริสตจักร ชลบุรี

ในปีคริสตศักราช ๑๙๑๕ ท่านศาสนาจารย์ แกรแฮม ฟูลเล่อร์ เป็นมิชชันนารีที่ได้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่คริสตจักรของคณะเพรสไบทีเรียน (ซึ่งเป็นชื่อเดิมของคริสตจักรสะพานเหลือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น คริสตจักรสะพานเหลือง เมื่อปี ๑๙๓๓) ท่านเป็นผู้ที่ได้ดำเนินการก่อตั้งคริสตจักรและศาลาธรรมขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ในตัวจังหวัดชลบุรีนั้น ท่านได้ดำเนินการตั้งขึ้นเป็นศาลาธรรมเมื่อ ปีคริสตศักราช ๑๙๒๑ โดยเช่าสถานที่ทำการประกาศเป็นบ้านพักอยู่ที่ซอยหน้าเก๋ง ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัว คุณ กิมจู กิจเฮงพานิช ในปัจจุบันนี้ ในขณะนั้นมีสมาชิกเริ่มแรกเพียง ๓ คนเท่านั้น

๒. ยุคก่อตั้งเป็นคริสตจักร

หลังจากได้ก่อตั้งเป็นศาลาธรรมแล้ว ได้ดำเนินการทำการประกาศ จนได้สมาชิกเพิ่มขึ้นจากการประกาศ และมีสมาชิกที่ย้ายมาจากอื่นรวมประมาณสิบกว่าคน ในปีต่อมาจึงได้สถาปนาขึ้นเป็นคริสตจักรจีนชลบุรี แต่ยังใช้บ้านเช้าสถานที่เดิมเป็นที่ทำการของคริสตจักรในเวลานั้น ซึ่งในเวลานั้นได้อยู่ในความดูแลของ คริสตจักที่ ๓ กรุงเทพฯ เนื่องจากคริสตจักรยังไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทางคริสตจักรที่ ๓ มอบหมายให้ อ.บุนก้วง แซ่อั้ง มาทำหน้าที่ดูแลอยู่นานประมาณ ๒-๓ ปี จากนั้นท่านจึงได้เดินทางกลับไปประเทศจีน ทางคริสตจักรที่ ๓ จึงเชิญท่านศาสนาจารย์ เก๋งเม้ง แซ่ลิ้ม (บิดานายแพทย์ เมธ หลินวงศ์) มาเป็นศิษยาภิบาล

ในปีคริสตศักราช ๑๙๓๔ ได้มีการก่อตั้ง "สภาคริสตจักรในสยาม" ขึ้น (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาคริสตจักรในประเทศไทย") คริสตจักรชลบุรี ซึ่งมีสภาพเป็นคริสตจักรจีนในขณะนั้นจึงได้เข้าร่วมกับคริสตจักรจีนที่มีอยู่ ๗ คริสตจักร ตั้งขึ้นเป็น คริสตจักรภาคที่ ๗ แห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย คริสตจักรสะพานเหลือง คริสตจักรสาธร คริสตจักรไมตรีจิต คริสตจักรฉะเชิงเทรา คริสตจักรชลบุรี คริสตจักรหนองงูเหลือม คริสตจักรนครปฐม

หลังจากที่ท่านศาสนาจารย์ เก๋งเม้ง แซ่ลิ้ม ได้ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้อยู่ประมาณสองกว่าปี เมื่อท่านพ้นหน้าที่ไปแล้ว ท่านศาสนาจารย์ ม่อเนี้ยม แซ่ตั้ง เป็นผู้ได้รับเชิญเป็นคนต่อมาให้ทำหน้าที่ศิษยาภิบาลของคริสตจักร และท่านได้พ้นหน้าที่ไปเมื่อท่านได้รับใช้อยู่ประมาณสิบกว่าปี จึงได้เชิญ อ. หักจือ แซ่ลี้ (ศาสนาจารย์อารี เทพอารีย์) มาเป็นศิษยาภิบาลคนต่อมาและท่านผู้นี้ได้เป็นผู้รับใช้คนสุดท้ายของคริสตจักร ที่ตั้งอยู่ที่บ้านเช่าซอยหน้าเก๋งรวมระยะเวลาที่คริสตจักรชลบุรี ได้ตั้งอยู่ที่ซอยหน้าเก๋งเป็นเวลาประมาณ ๒๖ ปี

สืบเนื่องมาจากคณะธรรมกิจของคริสตจักรในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าทางคริสตจักรได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานที่ทำการของคริสตจักรคับแคบลงและสถานที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำการขยายพื้นที่หรือต่อเติมได้เนื่องจากเป็นสถานที่เช่าอยู่ จึงได้เสนอให้มีการซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างเป็นคริสตจักรในที่ดินของตนเอง แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณที่จะซื้อที่ดิน คณะธรรมกิจจึงได้ตั้งโครงการให้สมาชิกร่วมกันถวายซื้อที่ดินมีกำหนด ๕ ปี และได้รับการถวายทรัพย์บางส่วน จากพี่น้องคริสตชนชาวต่างประเทศ ที่เห็นถึงความสำคัญของคริสตจักรที่จำเป็นจะต้องมีที่ดินเป็นของตนเองในการตั้งคริสตจักร จนกระทั่งคริสตจักรสามารถรวบรวมเงินพอที่จะซื้อที่ดินได้ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๗ จึงซื้อที่ดินจำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวา ในราคา ๖,๐๐๐ บาท อันเป็นสถานที่ตั้งของคริสตจักรชลบุรีในปัจจุบัน

๓. ยุคเติบโตและพัฒนา

เมื่อสามารถซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างคริสตจักรได้แล้ว จึงได้มีพิธีวางรากศิลาตัวอาคารโบสถ์ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๑๙๔๘ แต่ด้วยความจำเป็นจึงได้ทำการก่อสร้างอาคารที่ใช้เป็นสถานที่นมัสการและที่พักบางส่วนเป็นการชั่วคราวขึ้นมาก่อน แล้วจึงได้ทำการก่อสร้างพระวิหารที่จะใช้เป็นสถานที่นมัสการหลังใหม่ต่อมาภายหลัง ระหว่างนั้นทางคริสตจักรได้เชิญ ศจ. สิวหุย แซ่ตั้ง (ลุงของ ศจ.ดร. มนตรี ธราธิปธิติกุล) มาทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลท่านได้ทำหน้าที่รับใช้ อยู่จนถึงปี คริสตศักราช ๑๙๕๑ จากนั้นทางคริสตจักรได้เชิญ อ. เต็งกัง แซ่เตียว มาทำหน้าที่เป็นครูประกาศประจำอยู่ที่คริสตจักร เมื่อการก่อสร้างพระวิหารได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จและได้ทำการปรับปรุงพื้นที่บริเวณรอบพระวิหารเรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดให้มีพิธีถวายพระวิหารหลังใหม่ได้เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๑๙๕๒

ในช่วงที่ท่าน อ. เต็งกัง แซ่เตียว ได้รับใช้อยู่นั้นได้มีปัญหาการดำเนินงานของคริสตจักรซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการที่จะตัดสินใจว่าคริสตจักรควรจะดำเนินงานไปทางไหน แต่ด้วยความเชื่อและยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะให้คริสตจักร ได้ดำรงอยู่ในทางแห่งการทรงนำของพระเจ้า ท่านจึงยืนหยัดที่จะนำคริสตจักรชลบุรี ที่จะยังคงอยู่ในสถานภาพเช่นในปัจจุบันนี้ และท่านได้รับใช้อยู่จนถึงปีคริสตศักราช ๑๙๕๙

หลังจากที่ อ. เต็งกัง แซ่เตียว พ้นหน้าที่ไปแล้วคริสตจักรยังไม่สามารถเชิญศิษยาภิบาลมาประจำการได้ ทางคริสตจักรภาคที่ ๗ จึงได้มอบหมายให้ ผป. เหียงเม้ง แซ่ตั้ง (บิดาของ ศจ. สิวหุย แซ่ตั้ง) และมิชชันนารี หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล และโรงเรียน กรุงเทพศาสนาศาสตร์ (บีไอที.) ได้ส่งนักศึกษามาช่วยงานของคริสตจักรจนถึง ปีคริสตศักราช ๑๙๖๑ คริสตจักรจึงได้เชิญ อ. จือเซ็ง แซ่เงี้ยม มารับใช้อยู่ประมาณ ๑ ปี หลังจากนั้นได้เชิญ ศจ. รุ่ง กอธีรกุล มาทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลอยู่ประมาณ ๒ ปี คือตั้งแต่ปี คริสตศักราช ๑๙๖๓ ถึง คริสตศักราช ๑๙๖๔ และได้เชิญ ศจ. สิวหุย แซ่ตั้ง กลับมาเป็นศิษยาภิบาลอีกครั้งหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงในปีคริสตศักราช ๑๙๖๕ – ๑๙๖๖ และเมื่อท่านได้พ้นหน้าที่ไปแล้ว คริสตจักรจึงเชิญ อจ. มาระโก สุกัญจนศิริ มาทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลประจำเมื่อ ปีคริสตศักราช ๑๙๖๗ และภายหลังท่านได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์ในเวลาต่อมา และได้รับใช้จนถึง ปีคริสตศักราช ๑๙๗๒

เมื่อ ศจ. มาระโก สุกัญจนศิริ ได้พ้นหน้าที่ไปแล้วในปีคริสตศักราช ๑๙๗๔ คริสตจักรจึงได้เชิญ อ. วิวัฒน์ วงศ์สันติชน มาทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลเมื่อ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๗๔ ในช่วงที่ท่านได้รับใช้อยู่นี้ มีการเปิดจุดประกาศที่หนองมน เมื่อประมาณปีคริสตศักราช ๑๙๗๗ ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์เมื่อ ๙ กันยายน ๑๙๗๙ และในปีคริสตศักราช ๑๙๘๒ ได้เปิดจุดประกาศที่ อ.เสิงสาง จ. นครราชสีมา และได้สถาปนาเป็นศาลาธรรมเสิงสางในปีต่อมา เมื่อศาลาธรรมเสิงสางสามารถซื้อที่ดินได้แล้ว จึงสร้างพระวิหารและอาคารต่างๆจนแล้วเสร็จ ทำการถวายพระวิหารและได้รับการสถาปนาเป็น คริสตจักรเสิงสาง สังกัดภาคที่ ๗ เมื่อปีคริสตศักราช ๑๙๘๕ และในปีคริสตศักราช ๑๙๘๒ นั้น ได้มีการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กคริสตจักรชลบุรีขึ้น ได้เปิดดำเนินการในปีคริสตศักราช ๑๙๘๓ แต่มีความจำเป็นต้องปิดกิจการเนื่องจากคริสตจักรได้ทำการก่อสร้างพระวิหารใหม่ขึ้นในปีคริสตศักราช ๑๙๙๖ และในช่วงที่มีการดำเนินงานก่อสร้างพระวิหารตั้งแต่ ปีคริสตศักราช ๑๙๘๕ เป็นต้นมา ท่านได้ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการสร้างพระวิหารใหม่ และรับใช้ในหน้าที่ศิษยาภิบาลจนถึง วันที่ ๓๑ มีนาคม คริสตศักราช ๑๙๘๗

ปีคริสตศักราช ๑๙๘๗ คริสตจักรได้เชิญ ศจ. มาระโก สุกัญจนศิริ มาเป็นศิษยาภิบาลอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน ๑๙๘๗ ในระหว่างที่ท่านได้ทำหน้าที่อยู่นั้น ได้ขยายงานด้านการประกาศพระกิตติคุณ ออกไปหลายแห่งด้วยกัน เช่น จุดประกาศบ้านสวน, จุดประกาศโรงไฟฟ้าบางปะกง, จุดประกาศพนัสนิคม, จุดประกาศบึงตาต้า (จ.ระยอง) ขยายงานที่จุดประกาศนาเกลือ โดยตั้งขึ้นใหม่เป็น ศูนย์รวมคริสเตียน พัทยา-นาเกลือ ในเดือน สิงหาคม ๑๙๙๙ และได้ประกาศกับคนงานของโรงงานชลประสิทธิ์, โรงงานอุตสาหกรรม ๓ ธ, ตั้งจุดประกาศที่ สมาคม YWCA บางปะกง และในปีคริสตศักราช ๑๙๙๕ ได้มีการเลือกตั้งผู้ปกครองขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่คริสตจักรไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ปกครองมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้คริสตจักรไม่มีผู้ปกครองประจำการ เมื่อผู้ปกครองคนเดิมได้เกษียนอายุไป

เมื่อท่าน ศจ. มาระโก สุกัญจนศิริ ได้มารับตำแหน่งศิษยาภิบาลของคริสตจักรนั้น คณะธรรมกิจได้มีมติให้ท่านดำรงตำแหน่ง เป็นประธานอนุกรรมการก่อสร้างอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้ดำเนินการวางรากศิลาตัวอาคารใหม่เมื่อ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๙๓ ได้ทำการก่อสร้างตัวอาคารพระวิหารจนแล้วเสร็จใช้งานได้เมื่อ ปีคริสตศักราช ๑๙๙๗ และในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๑๙๙๗ ได้มีพิธีวางรากศิลาอาคารอเนกประสงค์ และทำการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์จนแล้วเสร็จ สามารถใช้งานได้ในเดือน มีนาคม ปีคริสตศักราช ๑๙๙๙ ในเดือน มกราคม ปีคริสตศักราช ๒๐๐๐ คณะธรรมกิจได้มีมติให้จัดซื้อที่ดินด้านข้างอาคารอเนกประสงค์ เพิ่มเติมอีกจำนวน ๕๑ ตารางวาในราคา ๘๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนท่าน ศจ. มาระโก สุกัญจนศิริ ทำหน้าที่ผู้รับใช้จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๐๐๐

๔. ยุคปัจจุบัน

หลังจากเดือน เมษายน คริสตศักราช ๒๐๐๐ คณะธรรมกิจได้พิจารณาแล้วจึงได้มีมติในที่ประชุมแต่งตั้ง อนุศาสนาจารย์ พิสมัย สุขคุ้ม ผู้ช่วยศิษยาภิบาล ทำหน้าที่ รักษาการศิษยาภิบาลของคริสตจักรเป็นต้นมา จนถึง วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๑ คณะธรรมกิจได้มีมติให้มีพิธีสถาปนา อนุศาสนาจารย์ พิสมัย สุขคุ้ม เป็นศาสนาจารย์ และยังคงให้ทำหน้าที่ รักษาการศิษยาภิบาล อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

จากระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น (ปีคริสตศักราช ๑๙๒๑) จนถึงปัจจุบัน (ปีคริสตศักราช ๒๐๐๑) คริสตจักรชลบุรีมีอายุยาวนานมาถึง ๘๐ ปี มีสมาชิกที่เป็นสมาชิกสมบูรณ์จำนวนเพียง ๒๘๙ คน (ยอดเดือน ม.ค. ๒๐๐๑) ทำให้ผู้รับใช้และคณะธรรมกิจในชุดปัจจุบันต้องตระหนักถึงงานต่างๆของคริสตจักรที่ได้ทำผ่านมา ในสิ่งที่ดีเราขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงนำเราในการรับใช้ และขอให้เป็นที่ถวายเกียรติแก่พระเจ้า ในสิ่งใดที่ที่เรายังขาดตกบกพร่อง เราต้องอธิษฐานขอการทรงนำและขอสติปัญญา เพื่อที่จะนำมาศึกษาเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลง ให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า โดยเราจะเริ่มต้นจากภายในคริสตจักร โดยมีนโยบายดังนี้

๑. ให้ความสำคัญด้านการศึกษาพระวจนะของพระเจ้าทุกระดับชั้น ทำการรณรงค์ให้สมาชิกได้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้พระวจนะของพระเจ้า โดยมุ่งหมายที่จะให้พระวจนะเป็นพื้นฐานสำคัญในความเชื่อและการดำเนินชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่สมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักร

๒. สนับสนุนและพัฒนาจุดประกาศฯ ที่ได้จัดตั้งไว้แล้วให้สามารถพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นจนเป็นคริสตจักรที่ดูแลตนเองได้ ทั้งฝ่ายร่างกายและจิตวิญญาณ ในขณะเดียวกันก็จะไม่ละเลยในการที่จะใช้โอกาสที่มีในการประกาศฯโดยเฉพาะในเขต จ.ชลบุรีและพื้นที่ที่ใกล้เคียง

๓. กฎ ระเบียบปฏิบัติต่างๆ มุ่งหมายที่จะใช้แนวทางในการปฏิบัติมากกว่าที่จะนำมาใช้บังคับ เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ มากกว่าที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีความสามารถ มารับผิดชอบงานต่างๆของคริสตจักร เพียงผู้เดียว

๔. ให้การดูแล เลี้ยงดู ผู้รับใช้ ตามความเหมาะสมที่กำลังของคริสตจักรจะให้ได้ และให้การสนับสนุนแก่ผู้รับใช้ และผู้นำด้านต่างๆในการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสิทธิภาพในการทำงาน ที่จะนำมาเพื่อการรับใช้ในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่องานของคริสตจักรมุ่งหมายที่จะให้เป็นกำลังสำคัญของคริสตจักรในอนาคตต่อไป

๕. จะรักษาความสัมพันธ์อันดีในการร่วมกิจกรรม ให้การสนับสนุนต่อองค์กร หน่วยงานและคริสตจักรต่างๆ ที่เราจะสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดต่อหลักความเชื่อของเราที่มีอยู่

การสร้างพระวิหารใหม่

นับตั้งแต่ปีคริสตศักราช ๑๙๔๗ พระวิหารหลังเดิม ได้เริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จสามารถทำพิธีมอบถวายพระวิหารใหม่ในปี คริสตศักราช ๑๙๕๒ คริสตจักรได้ใช้อาคารดังกล่าวในการนมัสการประกอบพิธีศาสนกิจต่างๆ มาจนถึงปี คริสตศักราช ๑๙๘๕ คริสตจักรได้เติบโตโดยพระกรุณาคุณของพระเจ้าที่ทรงนำและอวยพร ให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทำให้สถานที่คับแคบลงและประกอบกับการใช้งานมานานถึง ๓๔ ปี ตัวอาคารได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป ทั้งฝ่ายเทศบาลเมืองชลบุรี ได้พัฒนาพื้นที่ในเขตเทศบาลให้เจริญขึ้น โดยเฉพาะสถานที่อาคาร ร้านค้า ถนนหนทางบริเวณรอบๆคริสตจักรได้ขยายและเสริมให้สูงขึ้นหลายครั้ง จนทำให้พื้นที่ภายในของคริสตจักรที่ต่ำกว่าบริเวณข้างเคียง จึงได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมา ทำให้น้ำท่วมขังตามพื้นที่และภายในตัวอาคารของคริสตจักรเสมอ ทำให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างแม้ว่าจะได้ทำการแก้ไขด้วยการถมดินให้สูงขึ้นหลายครั้งแล้วก็ตาม ทำให้คณะธรรมกิจชุดที่ได้รับเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในปี คริสตศักราช ๑๙๘๕ ได้มีมติพิจารณาเรื่อง "โครงการสร้างพระวิหารหลังใหม่" ขึ้นในเดือน มกราคม ๑๙๘๕ และได้นำมติ "โครงการสร้างพระวิหารหลังใหม่" ดังกล่าว เสนอเข้าสู่ที่ประชุมของเพื่อนร่วมงานประจำปี ในเดือน มีนาคม ๑๙๘๕ ที่ประชุมได้มีมติให้คณะธรรมกิจตั้งคณะอนุกรรมการก่อสร้างขึ้น เพื่อดำเนินงานวางแผนการสร้างพระวิหารหลังใหม่ คณะธรรมกิจจึงได้เลือก คณะอนุกรรมการก่อสร้าง ขึ้นจำนวน ๖ คน โดยมี ท่านศาสนาจารย์ วิวัฒน์ วงศ์สันติชน เป็นประธานฯเริ่มดำเนินงานได้ในเดือนมิถุนายน ๑๙๘๕ เป็นต้นมาจนถึง เดือน ธันวาคม ๑๙๘๕ ได้เสนอแนวทางโครงการก่อสร้างต่อคณะธรรมกิจพิจารณา และนำเสนอของคณะอนุกรรมการดังนี้.-

๑. วงเงินงบประมาณการก่อสร้างจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเสนอแผนการถวายเงินสะสม เป็นตารางการถวายสะสมตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล ที่จะสัญญาถวายมีกำหนด ๕ ปี เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม ๑๙๘๖ เป็นต้นไป

๒. แบบก่อสร้างเป็นตัวอาคารสองชั้น มีที่นั่งในชั้นนมัสการจำนวน ๓๐๐ ที่นั่ง ในเดือน เมษายน ๑๙๘๗ ท่านศาสนาจารย์ วิวัฒน์ วงศ์สันติชน ท่านได้รับเชิญให้ไปรับหน้าที่ศาสนาจารย์ประจำคริสตจักร สะพานเหลือง คณะธรรมกิจจึงมีมติเชิญ ศาสนาจารย์ มาระโก สุกัญจนศิริ มาดำรงตำแหน่ง ศิษยาภิบาลของคริสตจักร และได้มีมติให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง คณะอนุกรรมการจึงได้เริ่มต้นเลือกแบบของพระวิหารต่างๆที่จะมาเป็นแนวทางในการก่อสร้าง ได้เดินทางไปดูแบบพระวิหารที่ได้ก่อสร้างแล้วทั้งใน กรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดหลายแห่ง แต่ยังหาข้อสรุปในขณะนั้นยังไม่ได้ จึงได้ขออนุมัติคณะธรรมกิจทำการถมที่รอบบริเวณตัวอาคารก่อนใน เดือน เมษายน ๑๙๘๙ เพื่อปรับระดับที่จะใช้ในการก่อสร้างเวลาได้ผ่านมาในปี คริสตศักราช ๑๙๙๑ ในขณะนั้นได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น คณะอนุกรรมการก่อสร้างเห็นว่า งบประมาณที่ตั้งไว้จำนวน ๓ ล้านบาทคงจะไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างให้เรียบร้อยได้ ประกอบกับต้องใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา เช่นการถมที่ เป็นต้น จึงได้เสนอขอความเห็นชอบ จากที่ประชุมเพื่อนร่วมงานประจำปี ๑๙๙๑ ขอปรับงบประมาณใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน ๕ ล้านบาท และได้ติดต่อผู้ที่ทำการออกแบบแต่ติดขัดด้วยปัญหาต่างๆจนถึงเดือน มีนาคม ๑๙๙๒ จึงติดต่อผู้ออกแบบคนแรกที่จะออกแบบได้ และพร้อมกันนั้นได้ยื่นเรื่องขออนุมัติรื้อถอนอาคารเดิม เพื่อทำการก่อสร้างใหม่ต่อคริสตจักรภาคที่ ๗ และต่อสภาคริสตจักรในประเทศไทย เมื่อผู้ออกแบบได้ทำการออกแบบเรียบร้อยแล้ว คณะธรรมกิจและคณะอนุกรรมการได้พิจารณาแบบที่เสนอมาแล้ว ต้องมีมติยกเลิกแบบก่อสร้างที่ออกแบบมา เนื่องจากเป็นแบบที่จะต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นกว่าอีก ๓ เท่า จากงบประมาณ ๕ ล้านบาท และวางอาคารตามแบบไม่ได้สาเหตุที่ผิดพลาดเนื่องมาจากพื้นที่ของคริสตจักรที่มีอยู่ไม่ตรงกับเนื้อที่ในโฉนด เพราะพื้นที่ของคริสตจักรได้ถูกตัดออกไปเป็นพื้นที่ของถนนสาธารณะหน้าคริสตจักรตามระเบียบของเทศบาลชลบุรีด้านข้างถูกตัดบางส่วนไปเป็นทางเดินเข้าออกของผู้อาศัยในที่บริเวณข้างเคียง คริสตจักรได้ยินยอมเสียพื้นที่ดังกล่าวไปเพราะเห็นแก่ความสงบสุขที่จะอยู่ร่วมกันในชุมชน จากนั้นคณะอนุกรรมการได้คัดเลือกผู้ออกแบบใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงได้ตกลงใจเลือกบริษัท โอเปค จำกัด เป็นผู้ออกแบบอาคาร ในวงเงินงบประมาณ ๘ ล้านบาท เมื่อแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วสามารถเสนอให้ คณะธรรมกิจพิจารณาได้ในเดือน มกราคม ๑๙๙๓ คณะธรรมกิจได้มีมติให้ทำการก่อสร้างตามแบบที่เสนอมาโดยเปิดให้มีการเสนอราคาก่อสร้างในเดือน พฤษภาคม ๑๙๙๓ มีราคากลางอยู่ที่ ๘ ล้านเศษ ปรากฎว่าผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ ๙ ล้านเศษ คณะอนุกรรมการเห็นว่าราคาที่เสนอยังคงสูงอยู่ ซึ่งจะเป็นปัญหากับงบประมาณก่อสร้าง อันจะเป็นภาระให้กับคริสตจักรในการหางบประมาณเพราะขณะนั้นราคากลางเองก็ยังเกินงบประมาณที่มีอยู่ประมาณ ๓ ล้านเศษ คณะอนุกรรมการจึงได้ทบทวนและประชุมตกลงกับผู้เสนอราคาใหม่ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้คณะอนุกรรมการจึงได้เสนอความเห็นต่อคณะธรรมกิจ ว่าควรจะทำการก่อสร้างเองเพราะมีสมาชิกที่ได้ทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างอยู่แล้ว คณะธรรมกิจพิจารณาแล้วจึงมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณที่ยังขาดอยู่ จึงได้มีมติให้กำหนดวันวางรากศิลาใน ๔ กรกฎาคม ๑๙๙๓ แต่มีมติในที่ประชุมใหม่ให้เลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๙๓ และได้ขออนุมัติขอรับการถวายจากพี่น้องคริสตชน ในคริสตจักรภาคที่ ๗ และสภาคริสตจักร เมื่อได้รับการอนุมัติให้รับถวายแล้ว จึงได้ออกไปขอรับการถวาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องคริสตชนเป็นอย่างดี เป็นที่น่าชื่นชมยินดียิ่งนัก

เมื่อการก่อสร้างโครงสร้างตัวอาคารคริสตจักรได้ก่อสร้างใกล้เสร็จเรียบร้อยในเดือน กุมภาพันธ์ ๑๙๙๔ คณะอนุกรรมการได้ประกาศให้พี่น้องถวายอุปกรณ์ตบแต่งภายใน และติดต่อผู้ออกแบบภายในคือ คุณ ภัทนันท์ จันทร์กระจ่าง สมาชิกคริสตจักรที่ ๒ สามย่าน เป็นผู้ดำเนินการออกแบบให้ในวงเงินงบประมาณ ๒ ล้านบาท และคณะธรรมกิจได้ขออนุมัติของรับการถวายจากคริสตจักร และหน่วยงานต่างๆในภาคที่ ๗ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๑๙๙๔ แบบตบแต่งภายในเสร็จเรียบร้อย จึงได้ดำเนินการตบแต่งภายในตามงบประมาณที่ตั้งไว้ และได้ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้วยงบประมาณอีก ๑ ล้านบาท คณะอนุกรรมการ ได้ดำเนินงานจนงานการก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง ใช้เป็นสถานที่นมัสการได้ในเดือน มีนาคม ๑๙๙๗ โดยใช้งบประมาณดังนี้

๑. โครงสร้างตัวอาคาร ๗,๙๘๐,๖๗๕.๒๖ บาท
๒. การตบแต่งภายใน ๗,๗๑๕,๐๐๐.๐๐ บาท
๓. อุปกรณ์ไฟฟ้า ๑,๒๓๗,๖๐๕.๐๐ บาท
รวมค่าก่อสร้างอาคารพระวิหารหลังใหม่ ๑๒,๙๓๓,๒๘๐.๒๖ บาท

การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์

ในระหว่างที่ทำการก่อสร้างพระวิหารใกล้เสร็จเรียบร้อยนั้น คณะธรรมกิจพิจารณาถึงตัวอาคารรวีวารศึกษา ที่ใช้เป็นสถานที่นมัสการชั่วคราวในระหว่างที่ทำการก่อสร้างพระวิหารใหม่ได้เห็นความชำรุดทรุดโทรมของตัวอาคาร จึงได้มีมติให้ทำการก่อสร้างเป็นอาคารสี่ชั้น มีดาดฟ้า ให้ชั้นล่างเป็นอาคารเอนกประสงค์ ชั้นที่สองใช้เป็นสถานที่เรียนของชั้นรวีฯ ชั้นที่สามเป็นที่พักของผู้รับใช้ ชั้นที่สี่ เป็นที่พักบุคลากรของคริสตจักรที่เป็นโสด จึงให้ บริษัท โอเปค จำกัด เป็นผู้ออกแบบในวงเงินงบประมาณ ๗.๕ ล้านบาท เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้วจึงได้ทำการวางรากศิลาเมื่อ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๑๙๙๖ ในระหว่างที่ทำการก่อสร้างต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปบ้าง แต่ขอบพระคุณพระเจ้าที่เราสามารถทำการก่อสร้างจนสำเร็จ เปิดใช้งานได้ในเดือน มีนาคม ๑๙๙๙ ได้ใช้งบประมาณการก่อสร้างดังนี้.-

๑. โครงสร้างตัวอาคาร ๔,๕๐๐,๖๗๕.๐๐ บาท
๒. ค่าตบแต่งภายใน ๕๔๓,๐๐๐.๐๐ บาท
๓. ค่าอุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา ๗๘๙,๐๐๐.๐๐ บาท
รวมเงินค่าก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ๕,๘๓๒,๖๗๕.๐๐ บาท

ซื้อที่ดินด้านหลังเพิ่มเติม ปรับปรุงอาคารรอง เป็นสถานนมัสการรอง ซ่อมแซมรั้ว ปรับพื้นที่รอบๆตัวอาคารต่างๆ

หลังจากที่คณะอนุกรรมการได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์เรียบร้อยแล้ว เจ้าของที่ดินที่อยู่เคียงข้างได้เสนอขายที่ดินที่ติดกันด้านหลังในราคา ๘๕๐,๐๐๐ บาท มีที่ดินจำนวน ๕๑ ตารางวา คณะธรรมกิจได้พิจารณาแล้วจึงตกลงซื้อไว้ เมื่อได้ซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้วจึงได้ทำการปรับปรุงตัวอาคารรอง ให้เป็นสถานนมัสการรองของคริสตจักร พร้อมกับทำการซ่อมแซมรั้วของคริสตจักรด้านหน้าและปรับพื้นที่รอบๆตัวอาคารต่างๆของคริสตจักรจนเสร็จเรียบร้อย เป็นที่สวยงามและมีระเบียบดังที่เห็นอยู่ในเวลานี้โดยได้ใช้งบประมาณในส่วนนี้ดังนี้.-

๑. ปรับปรุงอาคารรอง จำนวนเงิน ๓๔๘,๓๗๒.๐๐ บาท
๒. ค่าซ่อมแซม ด้านหน้า จำนวนเงิน ๒๗๘,๖๕๐.๐๐ บาท
๓. ค่าปรับแต่งพื้นที่และรั้ว ด้านหลัง จำนวนเงิน ๑,๒๕๐,๓๗๐.๐๐ บาท
รวมค่าใช้จ่าย ๑,๘๗๗,๓๙๒.๐๐ บาท

ตั้งแต่ เดือน มกราคม ๑๙๘๕ เป็นการเริ่มต้นของความคิดที่จะทำการก่อสร้างพระวิหารของพระเจ้าจนมาถึงเวลานี้ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๐๐๑ เป็นเวลาถึง ๑๖ ปีเศษ ในความมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างพระวิหารแห่งนี้จนสำเร็จสมบูรณ์ทุกอย่าง สามารถทำการถวายพระวิหารหลังใหม่ได้นั้น คริสตจักรชลบุรีได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างพระวิหาร สร้างตัวอาคารและปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่รอบๆ บริเวณของคริสตจักรรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน ๒๐,๖๔๓,๓๕๑.๒๖ บาท (ยี่สิบล้านหกแสนสี่หมื่นสามพันสามร้อยห้าสิบเอ็ดบาทยี่สิบหกสตางค์) เราได้เห็นถึงการทรงนำ พระกรุณาคุณอันอุดมของพระเจ้า และความรักความเมตตาของพระองค์ที่ได้ประทานผ่านมาทางพี่น้องสมาชิกคริสตชน คริสตจักร และหน่วยงานต่างๆที่ได้ร่วมใจกันช่วยเหลือ ให้การสนับสนุนทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และที่สำคัญที่สุดคือพลังการอธิษฐาน ที่ได้อธิษฐานเผื่อการก่อสร้างพระวิหารแห่งนี้จนสำเร็จ โดยมีองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสถิตย์อยู่เป็นศูนย์กลางในท่ามกลางเราทั้งหลาย จนทำให้เกิดความศรัทธา ความร่วมมือ ร่วมใจกัน จนวันนี้เราจึงสามารถร่วมกันถวายพระวิหารแห่งนี้ ให้เป็นที่ถวายเกียรติ สรรเสริญ และโมทนาพระคุณของพระองค์ได้ ขอบพระคุณพระเจ้า จากอดีตจนถึงปัจจุบันจากหนึ่งคนเชื่อเป็นหนึ่งครอบครัวเชื่อจากหนึ่งครอบครัวเชื่อเป็นจุดประกาศจากจุดประกาศเป็นศาลาธรรมจากศาลาธรรมเป็นคริสตจักรที่เลี้ยงตนเองได้และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆจน คริสตจักรชลบุรีกำลังก้าวสู่ปีที่90โดยการทรงนำของพระเจ้าผ่านบรรพบุรุษแห่งความเชื่อผ่านผู้รับใช้บางท่านที่จากไปอยู่กับพระเจ้าแล้วและผู้รับใช้ที่อยู่ในปัจจุบันอันประกอบไปด้วย อศจ. ไสว อินนาค อศจ.ปฐมพร สิงห์คำป้อง คณะผู้ปกครอง คณะธรรมกิจและบรรดามวลสมาชิกในการร่วมปรนนิบัติรับใช้อย่างเคียงบ่าจนปัจจุบันเกิดจุดประกาศ ศาลาธรรมหลายๆแห่งผ่านคริสตจักรคือคริสตจักรชลบุรีเรายังไม่หยุดที่จะพัฒนาและเป็นคริสตจักรที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าจนถึงวันพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมา